วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2556

วิชาจดหมาย

วิชา จดหมาย  เป็นวิชาย่อยของวิชาภาษาไทย ที่จะมี ตัววิชาหลัก แล้วก็จะมี คัดไทย การเขียนจดหมาย แยกย่อยออกมา (เหมือนภาษาอังกฤษ ก็จะมีวิชาคัดลายมือแยกออกมาอีกตัวหนึ่ง)

วิชานี้ ชื่อชัดเจน คือ เรียนการเขียนจดหมายอย่างเดียว ก็พอเข้าใจได้ว่า ในยุคนั้น ไม่มีเครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัยมากนัก โทรศัพท์ก็มีแบบโทรศัพท์บ้าน โทรสาธารณะหยอดเหรียญ ดังนั้นจะติดต่อกับใคร ถ้าเขาไม่มีโทรศัพท์ใช้ ก็เหลือแค่จดหมายกับโทรเลขเท่านั้น

วิชานี้จึงเกิดขึ้นมา (เดาเอาจริงๆ) เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้วิธีการเขียนจดหมาย และ การเขียนโทรเลข
ตรงนี้พอจะเข้าใจ แต่ไม่เข้าใจว่า ทำไมจดหมายที่ครูให้เรียน มันถึงได้ ทางก้านนน ทางการ เด็กประถมต้องเขียนจดหมายทางการระดับนี้เชียวหรือ

วิชานี้เริ่มจากการฝึกก่อน

สมุดเรียนในวิชาจดหมาย กระดาษหนึ่งแผ่นจะถูกพับเป็นสี่ส่วน
แต่ละส่วนบรรจุข้อมูลต่างๆกันไป แต่มีรูปแบบที่ชัดเจน

ส่วนที่สาม สี่ เป็นพื้นที่ของบ้านเลขที่ของผู้ส่ง เวลาเขียน ถ้าไม่จบในบรรทัดเดียวเมื่องขึ้นบรรทัดใหม่ต้องเขียนให้ทะแยงเบี่ยงออกมา

เริ่มล่ะ เริ่มยุ่งละ

เมื่อจบภารกิจเรื่องที่อยู่ ก็มาถึงวันที่เขียนจดหมาย จำไม่ได้แล้วว่าต้องอยู่ส่วนไหน เดาๆว่า ประมาณส่วนที่สองถึงสาม

แล้วก็มาถึงคำขึ้นต้นจดหมาย ในส่วนแรกของกระดาษ
คำขึ้นต้นจะเป็นรูปสุภาพที่ควรใช้ในชีวิตประจำวันของทุกท่านเมื่อจะต้องเขียนจดหมาย แต่ทุกท่านก็คงใช้แค่ในวิชานี้ ออกนอกห้องไปก็ไม่เคยคิดใช้ ยกเว้นสายงานราชการที่ยังคงต้องสุภาพชนไปจนเกษียณ

คำขึ้นต้นจะเปลี่ยนไปตามผู้รับ เช่น

เรียนคุณครูพิมลที่เคารพรัก
กราบเท้าคุณพ่อคุณแม่ที่เคารพ
ถึง เด็กหญิงเนยรักษ์โลก

ฯลฯ
มาถึงขั้นนี้เริ่มเห็นแววล่ะ ว่าไอ้จดหมายฉบับนี้ สมควรเก็บเข้าพิพิธภัณฑ์มากกว่าใช้จริงล่ะ
นี่ฉันยังอยู่ในนิยายเรื่องผู้ดีของดอกไม้สดอยู่ ใช่ไหมเนี่ยยยยยยยยย

เมื่อจบในส่วนต้นก็ถึงส่วนของเนื้อความ ซึ่งครูจะกำหนดโจทย์มาให้ การให้คะแนนจะดูกันตรงนี้ว่า ใครสามารถใช้ภาษาสื่อถึงวัตถุประสงค์ได้ชัดเจน สละสลวยกว่ากัน

ตัวอย่างโจทย์ เช่น

เป็นนักเรียนประจำ เงินค่าขนมหมด เขียนจดหมายไถ เอ้ย ขอเงินเพิ่ม (ไม่เคยปรากฏเหตุการณ์นี้ หมายถึง ไม่เคยปรากฏว่า แม่จะให้เพิ่ม....)
เขียนจดหมายเยี่ยมลุงที่ป่วย  (ในชีวิตจริง ลุงป่วย พ่อจะไปเยี่ยมแทน ไม่ก็ฝากอา น้า พี่ ไปเยี่ยมแทน... แล้วที่สำคัญ ลุงไม่เคยป่วย)
เขียนจดหมายไปหาเพื่อน (เพื่อนมันก็นั่งอยู่ที่โต๊ะข้างหน้าตัวที่สอง....)
เขียนจดหมายลาป่วย (พ่อเขียน เพราะถ้าเขียนเอง ครูจะรู้ว่า สตอร์ ...ภาษาสุภาพของคำว่า ตอแหล)

ฯลฯ

เวลาครูตรวจ ครูจะตรวจเนื้อความท่อนนี้ เพราะทักษะการใช้ภาษาไทยที่ดีจะปรากฏให้เห็นก็ตรงนี้แหละ
ครูน่าจะเข้าใจนะว่า ความจริงในห้อง กับ นอกห้องเรียนมันต่างกัน...

เมื่อจบเนื้อความก็เป็นการลงท้าย ให้สุภาพรับกับคำขึ้นต้น ไม่ใช่ว่า ขึ้นมากราบเท้า ลงท้ายข่มขู่แม่ให้ส่งเงินเร็วๆหน่อย

อย่างนี้ถือว่า ไม่ผ่านวิชานี้

จะว่าไป เมื่อกลับไปดูจดหมายเก่าๆที่เขียนหาเพื่อนกันในตอนสมัยประถาม อิชั้นดูสุภาพชนมาก จนไม่น่าเชื่อ ว่านั่นมันคืออิชั้น เรียกเพื่อนทุกคนด้วยชื่อจริงเป็นสรรพนามแทนเพื่อน ไม่มีคำพวกนี้หลุดออกมาแน่ๆ แก เอ็ง


เท่านี้ มันยังไม่จบ....
เมื่อมีกระดาษเขียนจดหมาย ก็ต้องมีซอง
ซองจดหมายก็คือ การวาดรูปซองจดหมายใส่ไว้ที่อีกด้านของกระดาษ ด้วยขนาดซองที่เป็นมาตรฐานการไปรษณีย์ไทย และต้องวาดแสตมป์แปะไว้ที่มุมซองซ้ายด้วย หมดสิทธิ์ที่จะใช้ซองลายคิตตี้ หรือ ดอกกุหลาบ

การจ่าหน้าซองก็เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่พึงปฏิบัติให้เป็นนิสัย  ชื่อผู้ส่งอยู่ที่มุมซองซ้าย เขียนเยื้องมาทางขวาให้สวยงาม ส่วนชื่อผู้รับอยู่ตรงกึ่งกลาง เขียนเยื้องขวาให้สวยงาม ซึ่งสาบานได้ว่า เมื่อเวลาต้องเขียนจดหมายหาใคร ไม่เคยเยื้องย่างอย่างนั้นอีกเลย สักครั้งเดียว

กระบวนการทั้งหมดนี้ รวมเรียกว่า วิชาจดหมาย
วันไหนต้องหัดเขียนโทรเลข ก็จะเป็นการวัดความสามารถในการพูดน้อย ต่อยหนัก ของนักเรียน เพราะโทรเลขจะคิดเงินตามตัวอักษร ดังนั้น มันต้องสั้นกระชับฉับไวมุ่งเป้า แต่ยังคงความสุภาพชนไว้ทุกกระเบียดนิ้ว จะมาพูดแบบบ้านๆ ว่า "แม่ ขอ เงิน เพิ่ม" ไม่ได้ทีเดียว (แม้ว่าจะสั้นกระชับได้ใจความสุดก็ตาม)

นั่นก็เป็นอีกพิธีกรรมที่สำคัญ

เมื่อช่ำชองในการฝึกภาคปฏิบัติดีแล้ว ครูจะให้เข้าสู่สนามจริง ด้วยการเขียนจริง ใส่ซองติดแสตมป์จริง เอาไปหย่อนลงตู้จริงๆ

จะให้เขียนไปเยี่ยมลุง....ก็ใช่ว่าลุงของทุกคนจะป่วย
จะให้เขียนไปขอตังค์แม่...แม่มาถึงที่แน่ (มาเด็ดหัว)

ไอเดียที่บรรเจิดของครู อันมีต้นเค้ามาจากหนังสือเรียนภาษาไทยมานะมานีก็คือ เขียนหาเพื่อนต่างโรงเรียน ในระดับชั้นเดียวกัน ห้องเดียวกัน เลขที่เดียวกัน เช่น

เด็กหญิงจุฑามาศ ชั้น ป.5/5 เลขที่ 11 ก็จะเขียนหา เด็กหญิงโนเนม ชั้น ป.5/5 เลขที่ 11 ของอีกโรงเรียนหนึ่ง กิจกรรมนี้ ได้ลุ้นกันสนุกดี แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้จดหมายตอบกลับ พวกเลขที่ท้ายๆมักเป็นกลุ่มเสี่ยง เพราะแต่ละห้องแต่ละโรงเรียนจำนวนเด็กในห้องไม่เท่ากัน ใครได้จดหมายตอบ ก็จะเหมือนเป็นวีรสตรีของห้อง ครูจะให้ออกไปอ่านให้เพื่อนฟังที่หน้าห้อง

สนุกดี แต่ครูไม่ให้เขียนถึงนักเรียนชาย
สงสัยครูจะกลัวข้อหาสอนเพลงยาวให้กับเด็ก...


ปัจจุบัน ไม่รู้ว่า กิจกรรมนี้ หรือ วิชานี้ยังมีอีกหรือเปล่า ในเมื่อโลกทั้งหมดถูกย่อไว้ในแท่งสี่เหลี่ยมที่เป็นเหมือนเนื้องอกส่วนที่ 33 ของเด็กนักเรียนทุกคน

ปล.ใครว่างๆ มาเขียนจดหมายถึงกันอีกสักทีดีไหม?



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น