วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556

กระติกน้ำ

หนึ่งในเครื่องแสดงถึงความ "เริ่ด" ของเด็กนักเรียนสมัยประถม ก็คือ "กระติกน้ำ"

ไม่แน่ใจว่าเดี๋ยวนะยังเป็นกันอยู่หรือเปล่า เพราะเห็นเด็กๆพกโทรศัพท์อวดกัน มากกว่าอวดกลุ่องดินสอ

กระติกน้ำ เป็นหนึ่งในของไม่กี่อย่างที่ครูไม่ได้ห้ามให้ใช้ ถ้าเป็นพวกกิ้บติดผม โบสีสวยๆ อันนี้โดนห้าม แต่กระติกน้ำ กล่องดินสอ พวกเครื่องเขียนต่างๆ ตามแต่ใจนักเรียนจะไขว่คว้าเลย ซึ่งมันก็อดจะอวดกันไม่ได้ แม้ว่าจะเป็นการอวด (เบ่ง) กันแบบเด็กๆก็ตาม

เมื่อก่อนสมัยเรียน ในห้องเรียนจะมีคูลเลอร์ใส่น้ำไว้ที่หลังห้อง ไม่รู้ว่าเริ่มมีตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่เดาว่าน่าจะตอนอยู่ประถมปลายแล้ว แต่ตอนประถมต้นยังไม่มีถังน้ำ ดังนั้น เด็กๆจึงต้องมีอาวุธคู่กายเป็นเครื่องแบบนักเรียนอีกชิ้นหนึ่ง ก็คือ กระติกน้ำ เพื่อใส่น้ำไปจากบ้าน เอาไว้ดื่มระหว่างวัน ครึ่งวันถ้าน้ำหมดไปเติมได้ที่โต๊ะอาหาร

กระติกน้ำสมัยก่อนก็คงไม่ต่างจากเดี๋ยวนี้ในเรื่องรูปร่างหน้าตา แต่ลวดลายก็คงเป็นไปตามยุคสมัย เมื่อก่อนจะชอบลายการ์ตูนผู้หญิงตาหวานๆ ไม่ก็ดอกไม้ สัตว์น่ารักๆ พวกน้องหมี น้องกระต่าย  กระติกจะเป็นพลาสติก ฝาปิดเป็นเกลียว เอามาใช้เป็นแก้วน้ำได้ ส่วนมากก็จะเป็นแบบนี้กันทุกคน

แต่สำหรับคนที่ไฮโซๆ ขึ้นมาหน่อย ย่อมต้องมีลูกเล่นพิเศษๆไม่เหมือนใคร

เช่น

ฝารองด้านในของกระติก เป็นตะแกรง เอาไว้เวลาที่ใส่น้ำแข็งในกระติก เทน้ำออกมาใส่แก้ว น้ำแข็งจะไม่หกตามมาด้วย...แน่นอน เจ้าของต้องมีเงินไปซื้อน้ำแข็ง

พวกกระติกสูญญากาศ สีเงินวาววับ จริงๆมันไม่สวยเท่าพวกกระติกพลาสติก แต่เนื่องจากการที่สามารถรักษาอุณหภูมิของน้ำร้อน น้ำเย็นได้ จึงจัดอยู่ในกลุ่มของกระติกสุดหรูราคาแพง เห็นใครใช้เนี่ย คุณหนูแน่นอน (ตอนนั้นอยากได้ แต่พ่อไม่ซื้อให้ พอโตมาเลยซื้อไว้ใช้เอง...หมายถึงตอนทำงานแล้วนะ)

กระติกรุ่นมีก๊อก .... อันนี้ ถือว่า ระดับเทพ กระติกที่มีก๊อกหมุนปิดเปิดน้ำโดยไม่ต้องเปิดฝา ไฮโซมากกกก ดูหรูหรามีชาติตระกูล ลองนึกดูสิ เวลาใครสักคนทำท่าหิวน้ำ แล้วค่อยๆยกกระติกมาวางบนโต๊ะ เอาแก้วรองแล้วหมุนก๊อก น้ำค่อยๆไหลลงมา.....โอยยยย อยากได้มาก แต่ไม่ได้ เนื่องจากพ่อเล็งเห็นแล้วว่า ก๊อกมันคงจะหลวมเข้าสักวัน หรือถ้าปิดไม่สนิท น้ำรั่วออกมาแน่

ก็จริงของพ่อ

แล้วกระติกแบบไหนที่พ่อภูมิใจนำเสนอ ซื้อมาให้ใช้....

เป็นกระติกแบบกระป๋องน้ำค่า.....
สีเหลืองตุ่นๆ แบบเหลืองมัสตาร์ด ฝาแบบกดปิดมีช่องเล็กๆ เปิดไว้ใช้รินน้ำ มีฝาปิดในตัวเชื่อมติดกับฝาใหญ่ มีสายหิ้วไม่ใช่สายสะพายเฉียงตัว  มาคิดๆดูตอนนี้ ชอบกระติกใบนี้มากมาย แทบอยากจะไปเอากลับมาใช้ใหม่ แต่ไม่ทันแล้ว เพราะมันโทรมมาก ฝาก็หาย สายหิ้วก็พัง มันเป็นกระติกที่แนวมากในความคิดตอนนี้ ยิ่งจับคู่กับแก้วพลาสติคหนาเตอะสีส้ม....สุดยอดมาก

แต่ตอนนั้น ไม่ได้คิดแบบนี้เลย
เป็นกระติกที่ไม่ชอบเลยเพราะ

หนึ่ง มันใหญ่โตมาก (พ่อ : ก็เอาไปกินน้ำไม่ใช่เรอะ แบบนี้แหละไม่ต้องเติมบ่อย)

สอง ไม่มีลายเจ้าหญิงตาหวาน (พ่อ : ลายพวกนั้นเดี๋ยวก็ลอก พลาสติกบางๆ ถลอกง่าย)

สาม มันสะพายไม่ได้ (พ่อ : ก็หิ้วเอาสิ เรื่องมากจริง !!!)

พอเจอคำว่า "เรื่องมากจริง" แสดงว่าเริ่มกรุ่นล่ะ สมควรยุติการโวยวายทุกอย่าง ไม่งั้นเรื่องยาวแบบที่แม่ก็ช่วยไม่ได้


นี่คือกระติกที่พ่อเลือก สมกับการเป็นบุรุษที่บูชาคุณค่าทางการใช้สอยมากกว่ารูปลักษณ์
และข้าวของทุกๆอย่างที่พ่อซื้อ ก็จะเป็นแบบนี้ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน - -*

ในที่สุดเมื่อหลังห้องมีถังน้ำใส่น้ำแข็งเย็นๆไว้ให้ ความอยากได้กระติกน้ำแบบไฮโซๆ ก็หมดไป หันไปสนใจเรื่องอื่นๆอีก

เด็กๆก็แบบนี้แหละ ลืมง่ายๆ  แต่พอโตมาแล้ว ดันจำเรื่องตลกๆของตัวเองได้ดีซะงั้น




วันจันทร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2556

เผาผงชูรส

"อย่าซื้อผงชูรสแบ่งขายยยยย"

จำไม่ได้แล้วว่า ใครคือต้นกำเนิดของประโยคนี้

"เพราะจะเป็นผงชูรสปลอม มีสารบอแรกซ์"

เอาล่ะสิ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าผงชูรสอันไหนจริง อันไหนปลอม??
เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหา เพราะสมัยประถม ครูได้มอบคัมภีร์พิสูจน์ของจริงของปลอมไว้ให้แล้ว

อยากรู้ว่าผงชูรสจริง หรือ ปลอม ต้องใช้พิธีลุยเพลิงพิสูจน์ความสัตย์

การพิสูจน์ว่าผงชูรสที่ใช้กันนั้นจริงหรือปลอม มีหลายวิธีค่ะ
แต่ที่ง่ายสุดสำหรับเราๆ ก็คือ จับมาเผาพิสูจน์

วิธีก็คือ เอาผงชูรสสักครึ่งช้อนชา ใส่ในช้อนโลหะ ช้อนแกงอย่างที่ใช้ตามบ้าน แล้วก็เอาไปเผาไฟ
ใช้เทียนก็ได้ ตอนประถมยังไม่ค่อยได้ใช้ตะเกียงแอลกอฮอล์ ยกเว้นการทดลองที่ต้องต้มกันนานๆ ดังนั้น แค่เผาผงชูรส เทียนเอาอยู่ค่ะ

พอช้อนเริ่มร้อน (ควรหาผ้ามาพันด้ามช้อนกันร้อน) ผงชูรสก็เริ่มไหม้ ตอนนี้แหละค่ะที่เราจะได้รู้กัน
อุอุอุอุ

ถ้าเป็นผงชูรสจริง เมื่อไหม้แล้ว จะกลายเป็นสีน้ำตาลทั้งหมด
แต่ถ้าเป็นผงชูรสปลอม จะมีบางส่วนที่ไม่ไหม้ เป็นสีขาวๆ นั่นคือสารเคมีที่ใส่ปะปนมา

ง่ายมากค่ะ คัมภีร์นี้

ตอนเรียนก็ว่าง่ายดีค่ะ แต่ลืมไปว่า ช้อนที่ใช้มันก็พลอยไหม้ตามไปด้วย ล้างออกได้แต่ก็ใช้เวลา
แถมกลับบ้านไปแล้ว ก็ยังอยากจะโชว์ให้น้องๆที่บ้านได้ชื่นชมความเก่งของพี่ ก็คว้าช้อนในครัวเทผงชูรสลงไปเปาต่ออย่างสนุกสนาน

รู้ตัวอีกที ช้อนก็ไหม้ตามผงชูรสไปหลายคันแล้ว

งานนี้ถึงผงชูรสที่บ้านจะจริง แต่การที่บอกว่าแม่ใจดีนั้น ปลอมเห็นๆ

บทเรียนนี้ถือว่ามีประโยชน์ ใช้งานได้จริง
แต่ตั้งแต่วันนั้น จนวันนี้ ก็ยังไม่เคยไปนั่งเผาผงชูรสที่ไหนก่อนทำกับข้าวเลย


T-------T

ปล.การเผาพิสูจน์ผงชูรสมีความเสี่ยง ทั้งความปลอดภัยทางร่างกาย ทรัพย์สินและ จิตใจ ผู้ปกครองควรเลิกใช้ผงชูรสเป็นการถาวร หรือจนกว่าลูกของท่านจะเรียนเรื่องใหม่




วันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2556

กล้องรูเข็ม

วันจันทร์ ครูสั่งให้เอาอุปกรณ์เหล่านี้ไปโรงเรียน เพื่อทำกล้องรูเข็ม

1.กระป๋องนมข้มหวาน ลอกสลากออกทำความสะอาดให้เรียบร้อย ก้นประป๋องเจาะรูเล็กๆ ให้เล็กที่สุด

2.กระดาษไข หรือ กระดาษลอกลาย

3.กระดาษโปสเตอร์สีดำ

4.สก็อตเทปใส หรือ กาวลาเท็กซ์ ก็ได้

5.กรรไกร

ให้เตรียมสมุดการบ้านวิชา สปช. ไว้จดบันทึกการทดลองส่งครูวันอังคาร
.
.
.
.
.

เดาว่า ในสมัยประถม หลายคนคงมีการบ้าน และการทดลองแบบนี้ในห้องเรียนวิชา สปช. ในส่วนที่ว่าด้วยวิทยาศาสตร์

วิชานี้เป็นวิชามหัศจรรย์ บรรจุเรื่องราวต่างๆทุกเรื่อง ตั้งแต่ร่างกายของเรา ไปจดโลกของเราสุดขอบจักรวาลกันทีเดียว ดูเหมือนเป็นวิชาสารานุกรมชุดขนาดมหึมา แต่เราก็ค่อยๆเรียนกันไป จนเกือบจะรู้เรื่องราวทั้งหมดในโลกนี้ ถึงจะไม่รู้ลึก แต่ก็เป็นฐานที่ดีของการเรียนในระดับสูงขึ้นไป

รวมถึงทำให้รู้ใจตัวเองด้วย ว่า ชอบแนวไหน ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การเมือง กฎหมาย เกษตร ฯลฯ

มันช่างน่าอัศจรรย์จริงๆ

ตอนที่เรียนเรื่องของแสง การเดินทางของแสงเป็นเส้นตรงเสมอ ภาพก็คือแสง กล้องถ่ายภาพก็คืออุปกรณ์ที่บันทึกแสงเก็บไว้ ไม่ว่าแสงดังกล่าวจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่แสง ณ ตอนที่หยุดไว้ ก็จะอยู่อย่างนั้นตลอดไป (ยกเว้นถูกปลวกกิน)

กล้องรูเข็มเป็นพัฒนาการขั้นแรกสุดของอุปกรณ์ในการจับภาพที่เป็นแสง ก่อนหน้าที่จะมีการบันทึกภาพด้วยฟิล์ม เดาว่า มนุษย์คงจะเห็นภาพที่เดินทางผ่านรูเล็กๆ แล้วมาตกกระทบบนฉากหลัง กลายเป็นภาพของสิ่งต่างๆในลักษณะหัวกลับ มันคงน่าตื่นเต้นมากในวินาทีนั้น แล้วก็คงยิ่งน่าตื่นเต้นเมื่อเราสามารถพกอุปกรณ์ดูภาพแบบนี้ไปได้ทุกๆที่ ไม่ต้องแบกบานประตูที่มีรอยแตกนั้นไปหาฉาก และก็คงตื่นเต้นสูงสุตอนที่ประดิษฐ์กระดาษมหัศจรรย์ที่เรียกว่าฟิล์มขึ้นมาใช้ได้

ดังนั้น เพื่อให้เด็กๆได้เรียนรู้กลไกง่ายๆของกล้อง เรียนรู้เรื่องของแสง ครูจึงให้ทำของสิ่งนี้มา

ตอนนั้น เราไม่ค่อยเข้าใจหน้าที่อันเยี่ยมยอดของบทเรียนนี้เท่าไหร่ แต่ก็พกกล้องที่ทำนี้ ไปส่องสิ่งโน้นสิ่งนี้ อยู่ตลอดเวลา อย่างน้อยก็พักใหญ่ๆ จนกระทั่งครูมีของอย่างอื่นมาให้ทำ  พอเริ่มโตเริ่มได้ใช้กล้องของจริงกล้องที่สลับซับซ้อนเต็มไปด้วยเทคโนโลยี ศัพท์แสงแบบตากล้องมือโปรมากมาย  จึงค่อยๆหวนนึกถึงความรู้ครั้งแรกที่ดูมันง่ายมาก ง่ายดาย

ง่ายจนปลง และก็ใช้กล้องอย่างธรรมดาที่สุด
ไม่ว่าจะเป็นกล้องโปร กล้องเทพ หรือ กล้องป๊อกแป๊ก
สุดท้ายมันก็มีหน้าที่เดียวกัน คือการไล่จับแสง 5555




วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2556

เครื่องกรองน้ำ

หนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ที่อยู่ในความทรงจำตลอดมา (และน่าจะตลอดกาล) และเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีประโยชน์แต่ทำได้ง่ายจนเด็กเล็กๆ ก็ทำได้ นั่นก็คือ....

เครื่อง กรอง น้ำ (รุ่นมือถือ)

ปัจจุบันเราจะพบเจอเครื่องกรองน้ำที่ดูหรูหราไฮโซเป็นของนอกอยู่หลายยี่ห้อ
แต่จริงๆแล้ว เราสามารถทำเครื่องกรองนี้ใช้เองได้ง่ายๆ แต่อาจจะกรองได้ไม่ดีเท่า
เหมาะมากสำหรับสาธิตให้เด็กดูหรือได้ลองทำเอง และถ้าจะกรองเอาจริงเอาจังก็ต้องขยายขนาดหน่อยจากขวดเปลี่ยนมาเป็นโอ่ง อันนี้กรองกันเอาเป็นเอาตายทีเดียว
วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำก็เป็นสิ่งใกล้ตัว ทำแล้วทดลองเห็นผลทันที

เครื่องกรองน้ำ ในวิชา สปช. สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต จึงเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมสูง จนคุณครูนำไปสอนตามโรงเรียนต่างๆมากมาย เป็นที่มาของประโยคที่ว่า "โรงเรียนฉันก็ทำย่ะ"

แม้แต่ในการ์ตูนสามชาติจบ "คำสาปฟาโรห์" ก็ยังมีตอนที่แครอลนางเอก สำแดงฤทธิ์ เอ้ย ใช้สติปัญญาทำน้ำสกปรกเป็นน้ำสะอาดด้วยการทำเครื่องกรอง (แบบเร่งด่วน) กรองน้ำให้คนงานได้ใช้ดื่มกิน จนทำให้เมมฟิสฟาโรห์หนุ่มสุดแสนประทับใจ

บรรดาเด็กนักเรียนหญิง ก็เลยยิ่ง "อิน" กับเจ้าเครื่องนี้ คงจะอยากกระโดดลงแม่น้ำไนล์ย้อนเวลาไปทำเครื่องกรองแทนแครอล

อุปกรณ์ในการทำไม่มีอะไรยากค่ะ
จะยากก็ต้องสมัยก่อนไม่ค่อยมีขวดพลาสติกเหมือนเดี๋ยวนี้
ตอนที่ทำ ตาก็เลยเสียสละโหลพลาสติคที่จะเก็บไว้ใส่ปลากัดมาให้หนึ่งใบ และต้องค่อยๆเจาะรูตรงก้นโถ เพื่อเสียงสายยาง (ตัดมาจากสายยางของพ่อ) เอาดินน้ำมันอุดรูรั่วกันน้ำไหลออกมา

หลังจากนั้น ก็เอาวัสดุที่ใช้ทำเป็นตัวกรองมาเรียงจากล่างสุดจนถึงบนสุดตามนี้ค่ะ

ล่างสุดคือ สำลีหรือเศษผ้าสะอาดๆ
ถ่านหยาบ
ถ่านละเอียด
กรวดหยาบ
กรวดละเอียด
ทรายละเอียด

ใส่ให้เป็นชั้นๆ เหมือนขนมชั้น  หลังจากนั้นก็ได้เวลาทดสอบเครื่องกันหน่อย

เริ่มจากหาน้ำสกปรก ซึ่งก็เอาเศษดินมาละลายน้ำ เมื่อคนได้ที่แล้วก็เทพรวดลงไปที่เครื่องกรองน้ำ
เราจะเห็นน้ำสกปรกค่อยๆซึมผ่านชั้นของตัวกรองต่างๆ ลงไปจนถึงชั้นของสำลี แล้วก็จะไหลออกมาทางท่อที่ต่อไว้

โอ้ จอร์จ ซาราห์แทบจะไม่เชื่อสายตาตัวเอง มันใสกิ๊งมาก (เวลาอ่านต้องทำเสียงให้เหมือนในรายการด้วย)

เป็นสิ่งที่นักเรียนประถมตื่นตาตื่นใจมากค่ะ

ของง่ายๆ แต่มีประโยชน์สูงมาก ปีก่อนโน้นที่น้ำท่วม ที่บ้านถึงขนาดจะรื้อฟื้นภูมิปัญญาตั้งเดิมสมัยประถมมาใช้อีกทีเดียว

ด้วยความคลาสสิค มีประโยชน์ชัดเจน เวลาพูดถึงเรื่องนี้ ทุกคนต่างมักร้องอ๋อกันโดยไม่มีข้อสงสัย แสดงถึงการเป็นวัฒนธรรมร่วมของโรงเรียนประถม ที่ทุกคนต้องเคยผ่านการเทน้ำสกปรกพิสูจน์ความเจ๋งของเครื่องกรองมาแทบทุกคน

แฟ้มข้อมูลเรื่องราวในสมัยประถมจึงขอปรบมือให้อย่างเป็นทางการ *แปะ แปะ แปะ แปะ*




วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2556

วิชาจดหมาย

วิชา จดหมาย  เป็นวิชาย่อยของวิชาภาษาไทย ที่จะมี ตัววิชาหลัก แล้วก็จะมี คัดไทย การเขียนจดหมาย แยกย่อยออกมา (เหมือนภาษาอังกฤษ ก็จะมีวิชาคัดลายมือแยกออกมาอีกตัวหนึ่ง)

วิชานี้ ชื่อชัดเจน คือ เรียนการเขียนจดหมายอย่างเดียว ก็พอเข้าใจได้ว่า ในยุคนั้น ไม่มีเครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัยมากนัก โทรศัพท์ก็มีแบบโทรศัพท์บ้าน โทรสาธารณะหยอดเหรียญ ดังนั้นจะติดต่อกับใคร ถ้าเขาไม่มีโทรศัพท์ใช้ ก็เหลือแค่จดหมายกับโทรเลขเท่านั้น

วิชานี้จึงเกิดขึ้นมา (เดาเอาจริงๆ) เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้วิธีการเขียนจดหมาย และ การเขียนโทรเลข
ตรงนี้พอจะเข้าใจ แต่ไม่เข้าใจว่า ทำไมจดหมายที่ครูให้เรียน มันถึงได้ ทางก้านนน ทางการ เด็กประถมต้องเขียนจดหมายทางการระดับนี้เชียวหรือ

วิชานี้เริ่มจากการฝึกก่อน

สมุดเรียนในวิชาจดหมาย กระดาษหนึ่งแผ่นจะถูกพับเป็นสี่ส่วน
แต่ละส่วนบรรจุข้อมูลต่างๆกันไป แต่มีรูปแบบที่ชัดเจน

ส่วนที่สาม สี่ เป็นพื้นที่ของบ้านเลขที่ของผู้ส่ง เวลาเขียน ถ้าไม่จบในบรรทัดเดียวเมื่องขึ้นบรรทัดใหม่ต้องเขียนให้ทะแยงเบี่ยงออกมา

เริ่มล่ะ เริ่มยุ่งละ

เมื่อจบภารกิจเรื่องที่อยู่ ก็มาถึงวันที่เขียนจดหมาย จำไม่ได้แล้วว่าต้องอยู่ส่วนไหน เดาๆว่า ประมาณส่วนที่สองถึงสาม

แล้วก็มาถึงคำขึ้นต้นจดหมาย ในส่วนแรกของกระดาษ
คำขึ้นต้นจะเป็นรูปสุภาพที่ควรใช้ในชีวิตประจำวันของทุกท่านเมื่อจะต้องเขียนจดหมาย แต่ทุกท่านก็คงใช้แค่ในวิชานี้ ออกนอกห้องไปก็ไม่เคยคิดใช้ ยกเว้นสายงานราชการที่ยังคงต้องสุภาพชนไปจนเกษียณ

คำขึ้นต้นจะเปลี่ยนไปตามผู้รับ เช่น

เรียนคุณครูพิมลที่เคารพรัก
กราบเท้าคุณพ่อคุณแม่ที่เคารพ
ถึง เด็กหญิงเนยรักษ์โลก

ฯลฯ
มาถึงขั้นนี้เริ่มเห็นแววล่ะ ว่าไอ้จดหมายฉบับนี้ สมควรเก็บเข้าพิพิธภัณฑ์มากกว่าใช้จริงล่ะ
นี่ฉันยังอยู่ในนิยายเรื่องผู้ดีของดอกไม้สดอยู่ ใช่ไหมเนี่ยยยยยยยยย

เมื่อจบในส่วนต้นก็ถึงส่วนของเนื้อความ ซึ่งครูจะกำหนดโจทย์มาให้ การให้คะแนนจะดูกันตรงนี้ว่า ใครสามารถใช้ภาษาสื่อถึงวัตถุประสงค์ได้ชัดเจน สละสลวยกว่ากัน

ตัวอย่างโจทย์ เช่น

เป็นนักเรียนประจำ เงินค่าขนมหมด เขียนจดหมายไถ เอ้ย ขอเงินเพิ่ม (ไม่เคยปรากฏเหตุการณ์นี้ หมายถึง ไม่เคยปรากฏว่า แม่จะให้เพิ่ม....)
เขียนจดหมายเยี่ยมลุงที่ป่วย  (ในชีวิตจริง ลุงป่วย พ่อจะไปเยี่ยมแทน ไม่ก็ฝากอา น้า พี่ ไปเยี่ยมแทน... แล้วที่สำคัญ ลุงไม่เคยป่วย)
เขียนจดหมายไปหาเพื่อน (เพื่อนมันก็นั่งอยู่ที่โต๊ะข้างหน้าตัวที่สอง....)
เขียนจดหมายลาป่วย (พ่อเขียน เพราะถ้าเขียนเอง ครูจะรู้ว่า สตอร์ ...ภาษาสุภาพของคำว่า ตอแหล)

ฯลฯ

เวลาครูตรวจ ครูจะตรวจเนื้อความท่อนนี้ เพราะทักษะการใช้ภาษาไทยที่ดีจะปรากฏให้เห็นก็ตรงนี้แหละ
ครูน่าจะเข้าใจนะว่า ความจริงในห้อง กับ นอกห้องเรียนมันต่างกัน...

เมื่อจบเนื้อความก็เป็นการลงท้าย ให้สุภาพรับกับคำขึ้นต้น ไม่ใช่ว่า ขึ้นมากราบเท้า ลงท้ายข่มขู่แม่ให้ส่งเงินเร็วๆหน่อย

อย่างนี้ถือว่า ไม่ผ่านวิชานี้

จะว่าไป เมื่อกลับไปดูจดหมายเก่าๆที่เขียนหาเพื่อนกันในตอนสมัยประถาม อิชั้นดูสุภาพชนมาก จนไม่น่าเชื่อ ว่านั่นมันคืออิชั้น เรียกเพื่อนทุกคนด้วยชื่อจริงเป็นสรรพนามแทนเพื่อน ไม่มีคำพวกนี้หลุดออกมาแน่ๆ แก เอ็ง


เท่านี้ มันยังไม่จบ....
เมื่อมีกระดาษเขียนจดหมาย ก็ต้องมีซอง
ซองจดหมายก็คือ การวาดรูปซองจดหมายใส่ไว้ที่อีกด้านของกระดาษ ด้วยขนาดซองที่เป็นมาตรฐานการไปรษณีย์ไทย และต้องวาดแสตมป์แปะไว้ที่มุมซองซ้ายด้วย หมดสิทธิ์ที่จะใช้ซองลายคิตตี้ หรือ ดอกกุหลาบ

การจ่าหน้าซองก็เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่พึงปฏิบัติให้เป็นนิสัย  ชื่อผู้ส่งอยู่ที่มุมซองซ้าย เขียนเยื้องมาทางขวาให้สวยงาม ส่วนชื่อผู้รับอยู่ตรงกึ่งกลาง เขียนเยื้องขวาให้สวยงาม ซึ่งสาบานได้ว่า เมื่อเวลาต้องเขียนจดหมายหาใคร ไม่เคยเยื้องย่างอย่างนั้นอีกเลย สักครั้งเดียว

กระบวนการทั้งหมดนี้ รวมเรียกว่า วิชาจดหมาย
วันไหนต้องหัดเขียนโทรเลข ก็จะเป็นการวัดความสามารถในการพูดน้อย ต่อยหนัก ของนักเรียน เพราะโทรเลขจะคิดเงินตามตัวอักษร ดังนั้น มันต้องสั้นกระชับฉับไวมุ่งเป้า แต่ยังคงความสุภาพชนไว้ทุกกระเบียดนิ้ว จะมาพูดแบบบ้านๆ ว่า "แม่ ขอ เงิน เพิ่ม" ไม่ได้ทีเดียว (แม้ว่าจะสั้นกระชับได้ใจความสุดก็ตาม)

นั่นก็เป็นอีกพิธีกรรมที่สำคัญ

เมื่อช่ำชองในการฝึกภาคปฏิบัติดีแล้ว ครูจะให้เข้าสู่สนามจริง ด้วยการเขียนจริง ใส่ซองติดแสตมป์จริง เอาไปหย่อนลงตู้จริงๆ

จะให้เขียนไปเยี่ยมลุง....ก็ใช่ว่าลุงของทุกคนจะป่วย
จะให้เขียนไปขอตังค์แม่...แม่มาถึงที่แน่ (มาเด็ดหัว)

ไอเดียที่บรรเจิดของครู อันมีต้นเค้ามาจากหนังสือเรียนภาษาไทยมานะมานีก็คือ เขียนหาเพื่อนต่างโรงเรียน ในระดับชั้นเดียวกัน ห้องเดียวกัน เลขที่เดียวกัน เช่น

เด็กหญิงจุฑามาศ ชั้น ป.5/5 เลขที่ 11 ก็จะเขียนหา เด็กหญิงโนเนม ชั้น ป.5/5 เลขที่ 11 ของอีกโรงเรียนหนึ่ง กิจกรรมนี้ ได้ลุ้นกันสนุกดี แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้จดหมายตอบกลับ พวกเลขที่ท้ายๆมักเป็นกลุ่มเสี่ยง เพราะแต่ละห้องแต่ละโรงเรียนจำนวนเด็กในห้องไม่เท่ากัน ใครได้จดหมายตอบ ก็จะเหมือนเป็นวีรสตรีของห้อง ครูจะให้ออกไปอ่านให้เพื่อนฟังที่หน้าห้อง

สนุกดี แต่ครูไม่ให้เขียนถึงนักเรียนชาย
สงสัยครูจะกลัวข้อหาสอนเพลงยาวให้กับเด็ก...


ปัจจุบัน ไม่รู้ว่า กิจกรรมนี้ หรือ วิชานี้ยังมีอีกหรือเปล่า ในเมื่อโลกทั้งหมดถูกย่อไว้ในแท่งสี่เหลี่ยมที่เป็นเหมือนเนื้องอกส่วนที่ 33 ของเด็กนักเรียนทุกคน

ปล.ใครว่างๆ มาเขียนจดหมายถึงกันอีกสักทีดีไหม?



วันพุธที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2556

ตุ๊กตาเปลือกไข่

วันนี้วันครู
เลยเอาเรื่องความสร้างสรรค์ของคุณครูเมื่อตอนประถมว่าเล่าสู่กันฟังต่อ

ยังคงอยู่ในวิชางานศิลปะ งานประดิษฐ์อยู่ค่ะ แหล่งรวมความแนวระดับเทพ
จะด้วยเหตุที่ในหนังสือเรียน มานะมานี มีตอนหนึ่งที่มานีเอาเปลือกไข่มาทำตุ๊กตา
หรือจะด้วยเหตุที่ครูเห็นเปลือกไข่ถูกทิ้งโดยเปล่าประโยชน์
คราวนี้ ... ครูก็เลยสั่ง ให้พวกเราทำตุ๊กตาจากเปลือกไข่ ให้เอากลับไปแขวนเล่นที่บ้านค่ะ

ครูคิดว่า อายุไขของมันจะยาวนานคุ้มกับการลงมือประดิษฐ์แค่ไหนเนี่ย


อุปกรณ์
เปลือกไข่....

ฟังดูง่าย แต่กระบวนที่จะได้เปลือกไข่มายากมาก

เพราะจะเอาแต่เปลือกที่ยังคงรูปของไข่ ก็ต้องเอาเจ้าไข่ดิบข้างในออกก่อน
วิธีการการนำไข่ข้างในออกมา ถือว่าสำคัญที่สุด อาจจะสำคัญยิ่งกว่าทำเป็นตัวตุ๊กตาก็ได้
มันเป็นศาสตร์และศิลป์ มันคือเส้นคั่นบางๆ ระหว่างเปลือกไข่แตกๆ กับ เปลือกไข่สวยๆ
สำหรับเด็กประถม มันก็คงยากพอๆกับทำโจทย์เลขระดับมัธยมกันทีเดียว

วิธีการก็คือ ต้องค่อยๆเจาะรูที่เปลือกไข่ อย่าให้รูใหญ่ เดี๋ยวตุ๊กตาเราจะเหมือนไปทำศัลยกรรมคลีนิคเถื่อน มาค้นพบทีหลัง (หลังจากแตกไปห้าฟอง มีไข่เจียวกินสามมื้อ) ด้านที่มันแหลมๆ จะค่อนข้างแข็งกว่าไข่ด้านป้าน ก็เลยเลือกเจาะด้านแข็ง

พอเจาะแล้ว ไข่ดิบข้างในมันก็ไม่ได้เทพรวดเดียวออกมาแบบน้ำ มันจะหนืดๆ ท้าทายกฎแรงโน้มถ่วงของนิวตันมาก วิธีชั้นเซียนก็คือ ต้องหาไม้เข้าไปปั่นๆ แหย่ๆ เป็นตัวดึงให้ไข่แดงไข่ขาวมันไหลออกมา

ขั้นนี้แหละ เทพจริง

จริงๆถ้าอยากจะรียูสเปลือกไข่ ก็น่าจะใช้เปลือกที่เหลือจากการตอกทำไข่ดาวไข่เจียว เพราะในยามปกติ คงหายากที่แม่บ้านบ้านไหนจะมานั่งปั่นลากไข่ดิบออกจากเปลือก เพื่อให้เปลือกยังคงรูปสวยงาม...

บ้านอิชั้นหนึ่งหลัง ที่ยกมือขอลา

เอาล่ะ เมื่อลากไส้ เอ้ย ลากไข่ข้างในออกมาแล้ว ไข่ที่ได้ก็เอาไปแปรรูปเป็นไข่เจียว หรือ ไข่ตุ๋น หรือไม่ก็ต้องไข่ดาวแบบที่ไข่แดงถูกเจาะแตกไปแล้ว เพราะสภาพของไข่ที่ออกมาจากรูอันแสนแคบ มันผสมกันมาอย่างดีเรียบร้อยทั้งไข่ขาวและไข่แดง เหยาะซอสลงไปอีกนิด เททอดได้เลย ไม่ต้องคนอีก

ส่วนเปลือกไข่ที่ได้ ก็ต้องล้างน้ำอย่างสะอาดสุด อย่างเบามือ ไม่เช่นนั้น กระบวนการทั้งหมดต้องเริ่มใหม่ ล้างเสร็จก็ตากให้แห้ง แบกไปโรงเรียนในสภาพที่่ห่อหุุ้มเป็นไข่ในหิน

การที่จะแปลงร่างจากไข่ให้เป็นตุ๊กตา ก็ไม่ได้ยากอะไรแล้ว ตราบเท่าที่เปลือกไข่ยังคงรูปอยู่รอดปลอดภัยถึงโรงเรียน ก็แค่ตัดไหมพรมติดกาวทำผม ติดลูกตาหรือเขียนสีเอา เขียนปาก ทาแก้ม ทำเชือกห้อย... แค่นี้ก็เรียกคะแนนจากครูได้แล้ว

มันแย่ก็ต้องที่ ต้องห่อหุ้มเจ้าตุ๊กตาตัวนี้กลับบ้านอีกรอบ...
.
.
.
.
.
เอิ่ม ครูคะ หนูว่า เอามันไปทำปุ๋ยหรือไม่ก็ปักไม้ใต้ต้นกุหลาบอย่างที่เขาทำๆกัน ไม่ง่ายกว่าหรือคะ
ปล.ใครเคยมีประสบการณ์ลากไส้ไข่ออกมาจากเปลือกบ้าง ขอเสียงหน่อยเหอะ




วันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2556

สร้อยมุกมะละกอ

เด็กวัยประถม เป็นวัยของการจินตนาการ

แต่จินตนาการระดับเทพคือ ครูศิลปะ

ในวิชางานประดิษฐ์ ซึ่งเป็นวิชาที่อิชั้นทำได้ดีสุดนัยว่าโตมาจะเป็นตัวแม่อาร์ตระดับเทพกับเขาบ้าง วิชานี้มีกิจกรรมแนวๆเหนือความคาดคิดมาให้ทำอยู่เสมอๆ

หนึ่งในกิจกรรมสุดแนว (ปัจจุบันคงจะสุดชิค) ก็คือ ร้อยสร้อยจากเมล็ดมะละกอดิบ

อาร์ตพอไหม?

ไม่รู้เหมือนกันว่า ครูเป็นคนคิดเอง หรือ คู่มือครูเป็นคนแนะนำ หรือตอนที่ครูไปซื้อส้มตำแล้วเห็นแม่ค้าทิ้งเมล็ดมะละกออ่อนเลยเสียดาย หรือ ที่บ้านครูจะเคยทำกันมาก่อน...สุดที่จะเดา แต่เมื่อครูสั่งงาน คนที่กุมขมับคนแรกคือ แม่...ผู้ต้องไปหาวัตถุดิบ

ตั้งแต่สมัยอนุบาล ที่โรงเรียนมักมีงานศิลปะที่ต้องใช้อุปกรณ์ซึ่งปัจจุบันก็คงหาได้ แต่ในอดีตมันหายากมาก เช่น ไม้ไอติม เดี๋ยวนี้มีขายให้สำเร็จรูป แต่เมื่อก่อนหมายถึงต้องกินไอติมจำนวนแท่งเท่ากับจำนวนไม้ที่ครูสั่ง หรือ ฝาขวดน้ำอัดลมแบบฝาจีบ เดี๋ยวนี้ก็ไปขอตามร้านง่ายๆ เพราะคนกินน้ำอัดลมกันมาก แต่เมื่อก่อน กินกันนับฝาได้ กว่าจะได้ครบตามสั่ง เล่นเอาถึงกับหอบ

ดังนั้น เมื่อครูสั่งให้เอาเมล็ดมะละกอมาร้อยสร้อย จึงนำความกลุ้มใจมาให้แม่อีกระลอก

ถ้าหากว่าบ้านเราตำส้มตำขายหรือกินกันเป็นประจำ เราก็คงมีเหลือเฟือ
ดังนั้นทางเดียวที่เหลือคือ วันนี้ ทำแกงส้มมะละกินก็แล้วกัน จะได้เอาเมล็ดมาให้ไอ้เด็กจอมยุ่งเอาไปโรงเรียน

จำไม่ได้หรอกว่า แม่ทำวิธีไหน จะตำส้มตำ หรือ แกงส้ม หรือจะยังไง แต่อิชั้นก็ได้เมล็ดมะละกอไปโรงเรียนหนึ่งถุง พร้อมด้วยลูกปัดสีสวย เข็ม และ ด้าย...

เรื่องของลูกปัดก็เป็นอะไรที่น่าเล่าเหมือนกัน คือ ลูกปัดจะมีสองแบบ แบบสีด้าน กับแบบพลาสติกใส มีวิบวับๆ พวกเราก็จะชอบแบบใสๆ กัน เพราะดูดีมีชาติตระกูล แต่จะซื้อมาประจำการทุกสีก็ไม่ไหว จน เลยใช้วิธีแลกกันกับเพื่อน เม็ดไหนสีสวยๆ จะไม่ใช้เลย เก็บไว้ดูเล่น ...ถึงตอนนี้อิชั้นก็ยังมีลูกปัดพวกนั้นเก็บไว้ดูอยู่เลย (แต่ซุกไว้ตรงไหน ลืมไปแล้ว 555)

วิธีการทำสร้อยเมล็ดมะละกอไม่มีอะไรยาก (ไอ้ที่ยากคือ ครูคิดได้ไงเนี่ยยยยย)
ลองดูค่ะ เผื่อใครจะเอาไปสอนลูกสอนหลานได้ เป็นการใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่ามาก

ไม่มีอะไรยาก เอาข็มแทงเข้าไปในเม็ดมะละกอ สลับกับร้อยลูกปัดเม็ดเล็ก เม็ดใหญ่ กะให้สวยงาม
.
.
.
.
.
.
.
ก็.. ไม่มีอะไร มันแค่นี้จริงๆ -*-

แต่ก็เป็นกิจกรรมที่สนุกนะคะ สนุกตั้งแต่ไม่คิดว่าเมล็ดมะละกอจะมาเป็นสร้อยสวยๆ สีขาวๆเหมือนสร้อยมุกได้  แล้วก็ตอนนั่งร้อยก็ชวนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ดี ว่าจะเอาลูกปัดสีอะไรมาร้อยต่อ สมาธิก็ต้องดีเพราะเมล็ดไม่ได้ใหญ่มาก คิดโน่นคิดนี่ เข็มจะตำมือเอา

เลิกเรียนวันนั้น ก็มีแต่ว่าที่คุณนายแต่งตัวกันไฮโซมาก
ที่คอมีแต่สร้อยมุก (ปลอม) ใส่กันคนละสามสี่เส้น

มานั่งคิดถึงตอนนี้ ก็ยังรู้สึกสนุกอยู่ดี
อย่าลืมนะคะ สั่งส้มตำรอบหน้า สั่งเมล็ดมาทำสร้อยเล่นกันเหอะ


วันอาทิตย์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2556

เตาถ่าน

เตาถ่าน อุปกรณ์พื้นฐานของการทำครัว
แม้ว่าทุกวันนี้จะมีเตาแก๊ส เตาไฟฟ้า หรือไมโครเวฟมาแทนที่แล้ว แต่ในยามยากเช่น แก๊สหมด ไฟดับ หรือ แม้แต่ทำอาหารที่ต้องใช้เวลานานๆ เตาถ่านก็จะฟื้นคืนชีพอีกรอบ (นั่นหมายถึงที่บ้านต้องมีถ่านเก็บสำรองไว้เพื่อการนี้ด้วย)

ไม่แน่ใจว่า เด็กนักเรียนสมัยนี้ ยังมีการเรียนวิชาเกี่ยวกับงานบ้านงานครัวอยู่หรือเปล่า?
ถ้ามี มีการสอนให้เด็กทำกับข้าวด้วยเตาถ่านอยู่หรือเปล่า?

ที่ถามนี่ก็เพราะ เมื่อครั้งนานมาแล้ว อิชั้น ต้องเรียนจุดเตาถ่าน และทำกับข้าวด้วยเตาถ่านเจ้าค่ะ

วิชาที่ว่านี่ก็คือวิชางานบ้าน อยู่ในกลุ่มวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ ในกลุ่มนี้จะมีวิชางานบ้าน งานประดิษฐ์ และงานเลือก (คือครูจะเลือกเรื่องมาให้เรียน แม้ว่าแต่ละเรื่องมันจะไม่เกี่ยวกันเลย เช่น อาทิตย์นี้เรียนการดูแลเด็ก อาทิตย์หน้าให้ไปปลูกข้าวโพดที่แปลงหลังโรงเรียนซะงั้น วิชานี้ต้องเล่ากันยาวเป็นมหากาพย์)

วิชางานบ้าน ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า เกี่ยวกับครัวเรือนแน่นอน มันก็มีมูลเหตุหลักๆที่ทำให้อิชั้นต้องเรียนวิชานี้เข้มข้นมาก อย่างแรก โรงเรียนอิชั้นเป็นโรงเรียนชาววังเก่า จึงถือเป็นภารกิจหลักที่จะเปลี่ยนลิงให้เป็นสาวชาววัง อย่างที่สอง โรงเรียนอิชั้นเป็นโรงเรียนหญิงล้วน มีชื่อเสียงกันมานักต่อนักว่า จบจากที่นี่ไปจะได้เป็นเจ้าคนนายคน อยู่ในสังคมชั้นสูง (อันนี้ไม่จริงค่ะ ทุกวันนี้ทำตัวได้เสื่อมเสียสถาบันที่จบมามาก)

ด้วยเหตุนี้ พวกเราถึงต้องเรียนอะไรต่อมิอะไรที่จะทำให้เราได้เป็นคุณนายในอนาคต ...ว่าไปแล้ว ทุกวันนี้ ดันใช้งานได้มากกว่าสิ่งที่เรียนมาในระดับมหาวิทยาลัยเสียอีก เหลือแต่การเป็นคุณนายก็เท่านั้นเอง

การเรียนทำครัวของโรงเรียนจะแบ่งครัวเป็นสองแห่ง
ครัวเตาถ่าน .... สำหรับนักเรียนชั้นประถม ตั้งแต่ ป.4 - 6 
ครัวเตาแก๊ส เตาอบ หรือ ครัวไฮโซ ...สำหรับพี่ๆชั้นมัธยม

ดังนั้น เมื่อแรกเริ่มหัดเป็นคุณนาย อิชั้นก็ต้องเริ่มจากเตาถ่านค่าาาา

อันที่จริง .. ตอนนั้นที่บ้านก็ใช้เตาถ่านนะ เพียงแค่ไม่ได้ลงมือจุดหรือทำกับข้าวเอง เพราะแม่กับยายรับหน้าที่นี้ไป อิชั้นก็รอกินตามระเบียบลูกสาวยุคใหม่ที่ดี ดังนั้นจึงไม่ได้เปรียบใดๆ ทั้งสิ้น ความรู้เรื่องเตาถ่านมีเท่ากับเพื่อนคนอื่นๆ  ด้วยเหตุนี้ เมื่อจะต้องมาหัดจุดเตาถ่านร่วมกับเพื่อนก็เลยตื่นเต้นยังกะไม่เคยเห็นมาก่อน 

มาคิดๆตอนนี้แล้ว อิชั้นกระแดะมากค่ะ

เตาในครัวโรงเรียนเป็นเตาปูนก่อแล้วปูกระเบื้อง มีหลุมเตาสองเตา ไม่ได้เป็นเตาอั้งโล่แบบที่บ้าน แค่เห็นเตาแบบนี้ก็แทบอยากให้แม่ไปหามาไว้ที่บ้านบ้าง เพราะมันสวย ดีที่แม่ไม่บ้าจี้ตาม เพราะต่อมาอีกไม่นานที่บ้านก็น้ำท่วม อั้งโล่มันยกขึ้นบ้านได้ แต่ไอ้เตาแบบนี้ ใครจะไปยกไหว

วิธีการจุดไฟที่ครูสอนก็คือ เอาขี้ไต้หนึ่งก้อนวางกลางเตา แล้วจุดไม้ขีดเอาไปจ่อ พอขี้ไต้ซึ่งเป็นขี้เลื่อยผสมน้ำมันยางติดไฟแล้วเราก็เอาถ่านก้อนงามๆ วางรอบๆ วางทับไปบนขี้ไต้ พอถ่านแล้วติดไฟ มีลูกไฟพึ่บพั่บ เราก็กระโดดหนี..

อ้ะ ไม่ใช่ล่ะ

พอถ่านติดไฟ เราก็โกยถ่านที่เหลือใส่ลงไปอีก แล้วก็พัดๆๆๆๆๆๆๆ จนไฟลุกโชน จะทำอะไรต่อก็ว่ากันไป ถ้าเลิกแล้วถ่านเหลือ ก็เอาคีมคีบถ่านคีบไปราดน้ำเก็บถ่านไว้ใช้ต่อได้อีก 

จะเป็นคุณนายต้องประหยัดค่ะ ขี้เถ้าในเตา ถ้าเป็นที่บ้านยายใช้ขัดหม้อต่อได้ ส่วนย่าทวดเอาขี้เถ้ามาแช่น้ำ เอาน้ำที่เรียกว่าน้ำด่างมาใช้ล้างจานซักผ้าได้อีก

ฟังดูง่ายๆ แต่ตอนนั้นก็ยากเอาการอยู่ ขนาดเปลี่ยนมาใช้ขี้ไต้เป็นตัวช่วยแล้ว ระดับเทพๆเขาไม่ใช้ขี้ไต้ให้ดูสาวแตกกัน มีแค่กระดาษหนาๆ เช่น กระดาษกล่องหรือลัง หรือแค่เศษไม้เล็กๆ จุดแป๊บเดียวก็โกยผ่าน พัดอีกสองทีก็ตั้งหม้อได้แล้ว

แต่สำหรับว่าที่คุณนายอย่างเรา ๆ มีขี้ไต้ก็ยังจุดยาก จุดเสร็จควันโขมง ห้องครัวมีสามเตา หกหลุม จุดพร้อมกัน วินาทีนั้นใครไม่รู้นึกว่ามีการเผาโรงเรียนเอาประกันแน่นอน

พอถ่านเริ่มติด ก็มีปัญหาตามมาอีก คือ ลูกไฟที่มันลั่นเปรี๊ยะๆๆๆๆ ก็ต้องอาศัยคนใจกล้าเป็นคนยกหม้อไปวาง ใครทำได้ก็ได้รับเสียงเฮและแววตาชื่นชมมอบให้ ราวกับเป็นคุณหญิงจันคุณหญิงมุกออกรบทีเดียว 

แต่ทำเก่งเกินไปมักไม่ค่อยดี เพราะคราวต่อไป ก็ต้องทำหน้าที่นั่นๆต่อไปอีกเรื่อยๆ จุดไฟเก่งจุดต่อไป รับมือกับลูกไฟเก่ง เอ้า ทำไป ..... อิชั้นก็อยากไปหั่นผักทำท่าสวยๆเหมือนกันนะ ทำไมต้องมาหน้าดำหน้าเตาด้วย T------T 


หลังจากไฟลุกดีแล้ว  ก็แล้วแต่โจทย์ของครูล่ะค่ะ ว่าจะสั่งให้แต่ละสัปดาห์ทำอะไร  จำได้แม่นเลยว่า สัปดาห์แรกสุด หลังจากสอนการจุดเตาไฟแล้ว ครูให้ต้มน้ำเพื่อนำมาลวกไข่ทำไข่ลวก เพราะคงเป็นอาหารง่ายสุดในความคิดของครู 

ครูคะ ครูไม่ถามพวกหนูก่อนเลยนะคะว่า กินกันเป็นหรือเปล่า?????????????????????

แน่นอนว่า การลวกไข่มันง่าย แต่การกินไข่ลวกมันยากกกกก 

หลังจากพิจารณาไข่ลวกของตัวเองเป็นที่เรียบร้อย เหยาะซอสและพริกไทยที่ครูสั่งให้แต่ละกลุ่มเอามาด้วย เหยาะลงไปสวยงาม เสร็จสิ้นพิธีกรรม เด็กหญิงจุฑามาศก็เทไข่ลวกใส่ถุง เอากลับมาฝากตาหลังเลิกเรียน.....และไม่กินไข่ลวกเลยนับจากนั้นมาจนบัดนี้

































แถมท้ายอีกนิด : เราทนใช้เตาถ่านกันมาสามปี ด้วยความฝันว่า เมื่อขึ้นชั้นมัธยม เราจะอัพเกรดตัวเราเองไปชั้นเตาแก๊ส และเตาอบ แต่.....พอจบ ป.6 ก็ต้องย้ายโรงเรียน โรงเรียนใหม่มีชื่อเสียง ไฮโซมากกก แต่ไม่ได้คิดฝึกเราให้เป็นคุณนายในอนาคต ดังนั้น เมื่อเข้ามา ม.1 ก็มาใช้เตาถ่านตามเดิม 






วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2556

Life of Pi

Life of Pi

เป็นหนังที่คิดว่าใช้ระบบสามมิติได้คุ้มค่าสุด เพราะไม่ได้ให้ภาพด้านความหวือหวาตื่นเต้นแบบหนังแอคชั่นทั่วๆไป แต่เป็นสามมิติที่ทำให้ความงามของสรรพสิ่ง มันงามยิ่งขึ้นไปราวกับว่าเราจับต้องได้แบบเดียวกับตัวเอกของเรื่อง 

มีหลายฉากที่ประทับใจ จริงๆแล้วก็ชอบทุกฉาก แต่ค่อนข้างรักฉากของท้องฟ้าและท้องทะเลที่เหมือนจะมาบรรจบกัน เมื่อท้องทะเลราบเรียบสะท้อนเงาของฟ้าเบื้องบน ทั้งยามเช้า สาย บ่าย เย็น และยามค่ำ มันใสเสียจนเราไม่รู้เลยว่า ฟากไหนคือฟ้า ฟากไหนคือน้ำ ยิ่งเวลาที่สะท้อนแสงดาว และมีสัตว์ทะเลเรืองแสง ชวนให้คิดว่ากำลังท่องอยู่ในอวกาศ



สีน้ำวันเด็ก ตอนที่ 3

อีกสักรอบสำหรับการสร้างงานศิลปะจากสีน้ำในแบบเด็กๆ (ตามกระแสโหยหาอดีตเต็มที่ อย่างน้อยคนอื่นก็ไม่รู้ว่า ฝีมือเราระดับเด็ก หรือเราพยายามทำงานให้ดูเหมือนเด็ก 555)

คราวนี้ง่ายยิ่งขึ้น ไม่ต้องคิดอะไรมากเลย เหมาะสำหรับวันที่วีนๆ หรือ เหวี่ยงๆใครมา ไม่รู้จะระบายกับใคร ระบายสีน้ำกันดีกว่าค่ะ งวดนี้เน้นการใช้พลกำลังเป็นหลัก

วิธีแรก บีบ และ พับ (อัดนิดหน่อย)

ไม่มีอะไรยาก พับครึ่งกระดาษที่เราจะใช้ จะตามยาวหรือขวางตามต้องการเลยค่ะ
จากนั้นบีบสีน้ำ บีบจากหลอดไม่ต้องพึ่งอุปกรณ์อะไรให้ยุ่งยาก

จานสี?...ไม่ต้องงงงงงงงงงงงงงงง

พู่กัน?... ขอโทษวันนี้ไม่ใช้

น้ำ?... โรคกลัวน้ำค่ะ

บีบสีอย่างเดียว เพียวๆ แต่ใส่แค่ด้านเดียวของที่พับครึ่งนะคะ
จากนั้น พับกระดาษครึ่งที่เหลือมาทับ ไม่ต้องกลัวกระดาษเปื้อน มันเปื้อนแน่นอนอยู่แล้ว

เอามือรีดๆตรงที่เป็นสี ให้มันแบนๆ กระจายๆ ซ้าย ขวา หน้าหลัง บนล่าง (อันนี้ออกแนวหวยใต้ดินเล็กน้อย)

วินาทีอันน่าตื่นเต้น ก็จะเริ่มขึ้น เมื่อค่อยๆบรรจงเปิดดูผลงานจากพลังเหวี่ยงของเรา
.
.
.
.
.


รอให้สีแห้งสักหน่อย ก็เติมเรื่องราว หรือ ใส่รายละเอียดกรุบกริบลงไป ถ้าคุมการบีบสีและการกดให้ดีดี รวมถึงเลือกสีงาม(กว่าตัวอย่าง) จะออกมาสวยเลยค่ะ เพราะมันจะมีเส้นสายเหมือนกลีบดอกไม้ทีเดียว ^^

อีกวิธี เหมาะกับคนที่พลกำลังล้นเหลือ นั่นคือ 

การเป่าสี

ผสมสีให้น้ำเยอะๆหน่อย แต่อย่าให้สีจางมาก หลังจากนั้น เอามาหยอดบนกระดาษ 
รวบรวมพลังลมปราณทั้งหมด แล้วก็เป่าสี ปู๊ดดดดดดดดดดดดดดดด

จะเห็นว่า สีัมันจะวิ่ง ๆๆๆๆๆ ไปจนวิ่งไม่ไหว วิ่งซ้าย วิ่งขวา วิ่งบน วิ่งล่าง (อันนี้ศัพท์หวยใต้ดินชัดๆ)
เราอาจจะใช้หลักกลศาสตร์มาช่วยเล็กน้อย ด้วยการเอียงกระดาษไปมา จะได้ไม่หมดลมก่อนเสร็จ

เป่าหลายๆสี ให้วิ่งไปวิ่งมา งานนี้ก็จะได้ศิลปะที่มาจากพลกำลังของเราล้วนๆ


วิธีที่สะดวกอีกหน่อยคือใช้หลอดพลาสติกเป็นอุปกรณ์เสริมค่ะ จะควบคุมทิศทางของสีได้ดีกว่าเป่าปากเปล่า

ข้อควรระวังมีแค่สองอย่าง
1.ใครที่มีอาการหน้ามืดตาลายง่ายๆ อย่าทำกิจกรรมนี้ (โดยเฉพาะถ้าเป็นกลุ่ม สว. สูงวัย) ถ้าจะทำต้องเตรียมยาหอมยาดมไว้ข้างๆ)
2.ระวังน้ำลายตัวเอง ลงไปปนกับสี *อี๋*

จริงๆมีวิธีอื่นๆอีกมากมาย เท่าที่จำได้ เช่น เอาเชือกมาชุบสี แล้ววางบนกระดาษ พับอีกครึ่งมาแล้วดึงเชือก เป็นลายเชือกทาบ หรือการใช้สีผสมอาหารแบบผงมาโรยบนกระดาษชื้นๆ บลาๆๆ เอาไว้ถ้าป้ามีเวลา ค่อยสาธิตแล้วนำมาอวดอีกที  ลองเล่นแค่นี้ก่อนจ้าาาาาาาาาาาาาาาาา






วันพุธที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2556

สีน้ำวันเด็ก : ตอนที่ 2

มาย้อนวัยการใช้สีน้ำครั้งแรกๆของใครหลายคนกันต่อค่ะ

คราวก่อนเป็นการใช้แม่พิมพ์ธรรมชาติ พิมพ์ลายต่างๆ โดยมีสีน้ำเป็นผู้ช่วยสำคัญ
วันนี้มาลองวิธีอื่นกันบ้างค่ะ

คราวนี้เราจะใช้...ฟองน้ำ
เอาฟองน้ำ (ใหม่ๆนะ ใช้ล้างจานจนเริ่มแฟบแล้วไม่เอา) มาตัดให้เป็นรูปร่างที่เราชอบ
ถ้าไม่มั่นใจใช้วิธีวาดลงกระดาษก่อนก็ได้ค่ะ



จากนั้นก็เอาไปทาบบนฟองน้ำแล้วตัดตามแบบ แน่นอน ลายพื้นฐานของอิชั้น ลายดอก


 เสร็จแล้วก็ผสมสีน้ำข้นๆมาระบาย จากนั้นก็ปั๊มลงไปบนกระดาษตามเดิม
แค่นี้ก็เรียบร้อยค่ะ สวยสดงดงาม ทำทีได้เป็นโหลๆ เหมาะสำหรับการแจกแฟนคลับพร้อมลายเซ็น




อีกวิธีหนึ่่งสนุกไม่แพ้กัน นั่นก็คือ ใช้แปรงสีฟันพ่นสีลงไปค่ะ จริงๆก็คือวิธีที่เรียกกันว่า stencil นั่นเอง ใช้แม่แบบรูปดอกไม้ที่เราตัดไว้ แต่คราวนี้ใช้แบบเจาะนะคะ เราจะเอามาทำเป็นบล็อกสำหรับสร้างกรอบให้กับการพ่นสี 

หลังจากนั้นก็ผสมสี คราวนี้ไม่ต้องข้นมาก เดี๋ยวนิ้วกรีดไม่ไป เอาแปรงสีจุ่มสีแล้วก็ใช้นิ้วกรีดพ่นให้เป็นละอองสีละเอียดๆ 


อย่าจุ่มเยอะนะ เดี๋ยวสีจะหยดเป็นเม็ดเป้งๆ 5555
หรือจะประยุกต์เพิ่ม เอากระดาษที่เราตัดเป็นรูปดอกไม้ วางลงไป ปิดไม่ให้โดนสี แล้วพ่นบริเวณรอบๆ ก็จะได้ดอกไม้มีขาวตามสีพื้นของกระดาษ เก๋ไปอีกแบบ


ลองเล่นดูนะคะ ^^ ไม่ยากเท่าไหร่


วันอังคารที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2556

สีน้ำวันเด็ก ตอนที่1

ใกล้ถึงวันเด็กแล้ว ลองนึกย้อนกลับไปสมัยเด็กมากๆ (ซึ่งก็ต้องใช้พลังในการย้อนเวลาสูงมาก เพราะไกล) สมัยนั้นเริ่มใช้สีน้ำเป็นลำดับที่สาม ต่อจากสีเทียนและสีไม้  สีน้ำสำหรับเด็กๆราคาไม่แพงค่ะ แต่จำไม่ได้แล้ว รู้แค่ว่าใช้ตราม้า คิดถึงจัง พรุ่งนี้ไปลองซื้อมาวาดเล่นย้อนอดีตดีกว่า

ด้วยความเป็นเ็ด็ก ครูจึงไม่ได้สอนวิธีการใช้สีน้ำที่ถูกต้องให้กับเรา เพราะมันคงเป็นเรื่องยากมากสำหรับเด็กประถม ถึงตอนนี้แล้ว แก่ๆแบบนี้ก็ยังรู้สึกว่ายากอยู่ดี ที่วาดๆอยู่ก็ไม่เคยทำตามทฤษฎีเป๊ะๆซะที  สีน้ำในสมัยเด็ก ก็เลยมีแค่ เอาตะปูเป็ก ที่เขาแถมมาในกล่องสี จิ้มไปที่ปากหลอด แล้วบีบสีใส่จานรูปดอกไม้ เอาพู่กันจุ่มน้ำมาคนๆให้สีผสมกับน้ำ..... แล้วก็เอามาใช้งาน


ใช้งานแบบไหน ระบายกันเลยรึ?

เปล่าเลย เพราะคงจะไม่สัมฤทธิ์ผลแน่ๆ เน่าชัวร์ๆ


การใช้สีน้ำในสมัยเรียนใช้จินตนาการมากกว่าฝีมือค่ะ จริงๆต้องปรบมือให้ครูสมัยประถมดังๆ ที่สามารถสร้างจินตนาการให้กับเด็กๆ จนติดตรึงตราใจจำได้ถึงทุกวันนี้ ถ้ามีลูกก็คงสอนลูกในแบบนั้นเหมือนกัน

วันนี้ลองมาทวนความรู้เก่ากันหน่อยค่า ใครมีอุปกรณ์ตามนี้ ครูให้สิบเต็มเลย 555555

อุปกรณ์

ตามภาพเลยจ้า
จะเห็นว่ามีอะไรหลายอย่างเลย ทั้งฟองน้ำ ก้านกล้วย ใบไม้ หลอด แปรงสีฟัน  วันนี้มาเล่นอย่างแรกกันก่อน สำหรับบ้านใครที่มีปลูกกล้วยไว้ ตัดใบตองมาโลด เอาก้านมาเล่นกัน ^^



ตัดก้านกลัวยเฉียงๆหน่อยค่า แล้วก็เอาสีที่ผสมไว้ (ผสมเข้มๆ หน่อย) ทาๆๆๆๆ 



ตัดกระดาษตามขนาดที่ต้องการ แนะนำให้เป็นขนาดโปสการ์ด 4x6 นิ้ว จะได้ใช้ส่งหาเพื่อนๆอวดฝีมือกันได้  กระดาษถ้าได้ระดับ 100 แกรม ขึ้นไปจะดีมาก ที่เป็นสมุดวาดเขียนสำหรับเด็กๆ อันนั้นความหนาน้อยไปค่ะ เดี๋ยวพอโดนน้ำ กระดาษจะย่น  พอพร้อมแล้ว ไม่ต้องคิดมาก กดก้านกล้วยลงไปบนกระดาษโลด



จะเห็นว่าจากลักษณะรูปทรงพื้นฐานของก้านกล้วยเลย เมื่อเอาเรียงกัน จะได้เป็นกลีบดอกไม้ค่ะ ^^ หรือพลิกแพลงเป็นพุ่มไม้ บัลลูน ก็ได้  แต่ป้ากิมชอบดอกไม้ ก็พิมพ์เป็นรูปดอกไม้อย่างเดียว เพิ่มความน่ารักโดยเติมตัวการ์ตูนลงไป สร้างเรื่องราวเล็กๆน้อยๆ กรุบกริบ


หรือบ้านไหนไม่มีกล้วย หากล้วยกล้วยยาก ก็เอาใบไม้ที่หาได้ง่ายๆ มาเป็นแม่พิมพ์ก็ได้ ผสมสีเข้มๆ ทาไปบริเวณหลังใบที่มีเส้นใบชัดๆ แล้วก็ค่อยๆกดพิมพ์ลงบนกระดาษ



ไม่ยากเลย.... ง่ายกว่าสีน้ำตามทฤษฎีอีก แค่นี้เราก็ได้การ์ดสวยๆ ย้อนอดีตวัยเด็กที่แรกเริ่มแตะสีน้ำเอาไว้อวดคนโน้นคนนี้ได้แล้วค่าาาาาา 

^_______^




Trimukha Ganapati

หลังจากซ้อมมืออยู่หลายรอบก็ได้เวลาลงมือจริงล่ะ ออกมาเป็นพระพิฆเณศ colorful มากๆ แต่ก็ชอบมาก ...นี่แหละตัวตนของช้านนนนนนนนนนนนน



วันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2556

Ganapati


ได้โจทย์มาให้วาดรูปพระพิฆเณศมาตั้งแต่ปลายปี จนขึ้นปีใหม่แล้วก็ยังไม่เริ่ม วันนี้ได้โอกาสยามสะดวก เลยลองๆร่างดูบนสมุดสเก็ตช์ภาพ เปิดเว็บของอินเดียดูตัวอย่าง ดูการใช้สี เลยพบว่า มีการสร้างงานเกี่ยวกับพระพิฆคเณศ หรือ คณปติ หลายสไตล์มากมาย แค่งานภาพเขียนระบายสี ก็มีทั้งแนวแบบ เวรี่ แขก ไปจนถึงสมัยใหม่สุดๆ ก็เลยได้ไอเดียมาเยอะ.....เกิน... ยังหาจุดพอดีของตัวเองไม่ได้อยู่ดี ฮ่าๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ


ยากจังแฮะ











วันเสาร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2556

วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2556

Oppan GengGong Style

มาเต้น เก็งกองสไตล์ กันเถอะ

ที่มาที่ไปคือ อยากได้การ์ดปีใหม่ไว้แจกมิตรรักแฟนคลับ เลยมานั่งไล่เรียงหาคอนเซ็ปต์ เริ่มจาก ปีงู...จะวาดงูก็ไม่สันทัด แถมก็คงมีคนคิดเหมือนกันหลายที่แล้ว ก็เลยลองเอางูมาเต้นยึกยักๆ ก็พอดีวาดแมวเต้นกังนัมสไตล์อยู่พอดี เลยปิ้งไอเดีย จับงูมาเต้น โดยให้เป็นตัวบุคคล

ใครบ้างล่ะที่จะมาแคสติ้งได้ ก็มี เมดูซา จากกรีก และ งูเก็งกอง จากเขมร ในที่สุดงูเก็งกองก็ชนะไปขาดลอยผลของกระแสอาเซียนที่กำลังแรง

ออกแบบทรงผมงูของเก็งกองให้ดูน่ารักขึ้น ด้วยการให้เป็นงูอวบๆลายจุด แต่งองค์ทรงเครื่องของแม่นางเก็งกองด้วยชุดวัฒนธรรมไทย - เขมร ห่มผ้าแถบนุ่งโจงกระเบน (ดีที่ไม่เคี้ยวหมาก) แต่ใส่รองเท้าและแว่นตาดำแบบพี่ไซ จากนั้น ก็.......เต้น ๆๆๆๆๆๆๆๆๆ


วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556